พลังงานไฟฟ้า คืออะไร ?

        ไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปหนึ่งที่สามารถทำงานได้ และมีความสำคัญมากเพราะนำมาใช้กับอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดต่าง ๆ ที่อำนวยความสะดวกในการดำรงชีวิต เราใช้ประโยชน์จากกระแสไฟฟ้า ที่ผลิตขึ้นผ่านเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยต่อสายไฟระหว่างเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม โทรทัศน์ วิทยุ เตารีด เมื่อเปิดสวิตช์แล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าจะทำงานโดยเปลี่ยนพลังงาน ไฟฟ้าเป็นพลังงานรูปอื่น เช่น พลังงานแสง พลังงานเสียง พลังงานกล

พลังงานไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

    1.ไฟฟ้าสถิต (Static electricity หรือ Electrostatic Charges) เกิดจากการนำวัตถุสองชนิดมาขัดสีหรือถูกัน ทำให้ประจุไฟฟ้าที่อยู่ในวัตถุนั้นเกิดการเคลื่อนที่ และวัตถุนั้น สามารถแสดงอำนาจไฟฟ้าได้

    2. ไฟฟ้ากระแส (Current Electricity) เกิดจากการเคลื่อนที่ของประจุไฟฟ้าไหลผ่านตัวนำไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดไฟฟ้าไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า ไฟฟ้ากระแส แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

      2.1 ไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current = D.C.) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าไปทางเดียวกันตลอดเวลา คือจะไหลจากขั้วบวกไปขั้วลบ เช่น กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ถ่านไฟฉาย และเซลล์สุริยะ เป็นต้น

      2.2 ไฟฟ้ากระแสสลับ (Alternating Current = A.C.) เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีทิศทางการไหลของกระแสไฟฟ้าไหลกลับไปกลับมาอย่างรวดเร็วตลอดเวลาระหว่างขั้วบวกกับขั้วลบ เป็นกระแสไฟฟ้าที่เราใช้ตามอาคารบ้านเรือน เป็นไฟฟ้าที่เกิดจากการหมุนของไดนาโมกระแสสลับจากเครื่องจักรหรือแหล่งพลังงานอื่น ๆ เช่น พลังน้ำจากเขื่อน หรือพลังงานลม เป็นต้น

แนะนำการใช้ไฟฟ้าอย่างปลอดภัย

       1.อุปกรณ์การติดตั้งทางไฟฟ้าต้องเป็นชนิดที่ได้รับการรับรองจากมาตรฐานต่าง ๆ เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.), UL, VDE, IEC เป็นต้น

       2.ก่อนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ผู้ใช้ต้องอ่านและศึกษาคู่มือแนะนำการใช้งานให้เข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

       3.ทุกครั้งที่จะหยิบใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ขอให้ตรวจสอบสายไฟ และเต้าเสียบ (ปลั๊กไฟ) ของเครื่องว่า มีร่องรอยของการชำรุด หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากไม่ได้มีการใช้งานมาเป็นเวลานาน


       4.อย่าพยายามเอาสิ่งของต่างๆ ไปวาง หรือครอบคลุมตกแต่งบนเครื่องใช้ไฟฟ้า หรือนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปวางในที่คับแคบอากาศถ่ายเทไม่สะดวก นอกจากจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้ามีอายุสั้นชำรุดได้ง่ายเนื่องจากระบายความร้อนได้ไม่ดีแล้ว ยังทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพต่ำ เนื่องจากความร้อนสูงจะทำให้มีการสูญเสียพลังงานมาก ทำให้กินไฟมาก แล้วยังอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดเพลิงไหม้ได้ด้วย

       5.หลีกเลี่ยงการนำเครื่องใช้ไฟฟ้าไปใช้ในบริเวณที่มีฝนสาด เช่น หน้าต่างหรือเฉลียง หรือ เอาภาชนะใส่น้ำไว้บนเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ขันน้ำ ตู้เลี้ยงปลา แจกันดอกไม้ใส่น้ำ เพราะน้ำอาจหกใส่ เกิดอันตรายไฟรั่วขึ้นได้

    6.เมื่อร่างกายเปียกชื้น ห้ามแตะต้องส่วนที่มีไฟฟ้าหรือเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นอันขาด เพราะความต้านทานต่อไฟฟ้าของผิวหนังที่เปียกชื้นจะลดลงอย่างมาก หากมีไฟรั่วจะทำให้กระแสไฟฟ้าสามารถไหลผ่านร่างกายได้โดยสะดวก อาจทำให้เสียชีวิตได้ ข้อแนะนำในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าขณะที่ร่างกายเปียกชื้น เช่นการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นในการอาบน้ำ นอกจากจะต้องติดตั้งสายดินแล้ว จะต้องติดตั้งเครื่องตัดไฟรั่วที่ได้มาตรฐานความปลอดภัย (มอก.) ในวงจรไฟฟ้าของเครื่องทำน้ำอุ่นด้วย เพื่อเสริมการทำงานของสายดินให้ปลอดภัยยิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องตัดไฟรั่วที่ติดมาในเครื่องทำน้ำอุ่นเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ (ข้อสำคัญก่อนใช้งาน ต้องตรวจสอบการต่อสายมิให้มีการเข้าสายไฟสลับเส้นกันด้วย มิฉะนั้น เครื่องป้องกันอาจไม่ทำงาน)


    7.อุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องแช่ในน้ำ เช่น ปั๊มน้ำสำหรับเติมอากาศ หรือเครื่องกรองน้ำสำหรับบ่อหรือตู้เลี้ยงปลานั้น วงจรไฟฟ้าที่จ่ายไฟให้เครื่องฯ ต้องมีเครื่องตัดไฟรั่วและควรใช้ผ่านหม้อแปลงแยกวงจร (isolatingtransformer) หรือใช้แรงดันต่ำพิเศษจึงจะปลอดภัยและต้องมีการตรวจสอบด้านความปลอดภัยและมีการบำรุงรักษาอยู่เป็นประจำด้วย

      8.อย่าใช้สารเคมีที่ไวไฟใกล้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าฯที่กำลังทำงาน เช่น สเปรย์ ยาฆ่าแมลง หรือที่มีส่วนผสมของทินเนอร์ หรือ อย่าพยายามใช้ไฟฟ้าหรือเปิดสวิตช์ไฟฟ้า เช่น พัดลมระบายอากาศในบริเวณที่มีไอของสารระเหยหรือก๊าซที่ไวไฟปกคลุมอยู่เต็มพื้นที่ เช่น ก๊าซหุงต้ม ทินเนอร์ หรือ ไอน้ำมันเบนซิน เป็นต้น อาจเกิดระเบิดไฟลุกไหม้ได้

คณะ/วิทยาลัย

  • คณะ/วิทยาลัยทั้งหมด
  • วิทยาเขตอำเภอเมือง
  • วิทยาเขตลำรางทุ่งกะโล่
  • วิทยาเขตหมอนไม้
  • วิทยาเขตน่าน

คณะครุศาสตร์

คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม

คณะวิทยาการจัดการ

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คณะเกษตรศาตร์

วิทยาลัยนานาชาติ

วิทยาลัยน่าน